รู้ทัน “เรื่องทวงหนี้”

         ปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยยังคงหนีไม่พ้นสภาวะการติดลบ ปัญหารายได้ลด หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ธุรกรรมทาง
ด้านสินเชื่อเป็นตัวเลือกในการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางด้านการเงิน ส่งผลให้เป็นจุดเริ่มต้นของการชำระหนี้ไม่ตรงเวลา โดยสิ่งที่ตามมาคือ “การทวงหนี้”  

         ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายทวงหนี้ไว้เป็นประโยชน์และไม่ให้เสียเปรียบทั้ง “เจ้าหนี้” และ “ลูกหนี้” ในปัจจุบันกฎหมายทวงถามหนี้ฉบับล่าสุด คือ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นมา การทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ทวงหนี้แบบไหนจะเป็นการคุกคามหรือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกหนี้ หากลูกหนี้โดนปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากการทวงหนี้ควรปฏิบัติอย่างไร

ทวงหนี้อย่างไรที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ?

  1. ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำให้เกิดความเสียหายทางด้านร่างกาย ชื่อเสียง ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น
  2. ทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่ บุคคลที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้
  3. ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้
  4. เปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้อื่นรู้ ยกเว้น บุคคลในครอบครัวลูกหนี้ เช่น สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน เป็นต้น
  5. เรียกค่าใช้จ่ายในการทวงหนี้เกินอัตรา
  6. การใช้ข้อความหรือสัญลักษณ์ ไปรษณียบัตร ที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการทวงหนี้
  7. เสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค ทั้งที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้

ทวงหนี้อย่างไรให้ถูกกฎหมาย ?

  1. สามารถทวงหนี้โดยการโทรศัพท์ สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สถานที่การติดต่อทวงหนี้ เป็นสถานที่ที่ลูกหนี้ระบุไว้เพื่อการทวงหนี้ กรณีลูกหนี้ไม่ได้แจ้งให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงาน  
  1. ช่วงเวลาในการติดต่อทวงหนี้

         วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08:00 น. – 20:00 น.

         วันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08:00 น. – 18:00 น.

  1. ความถี่ในการทวงหนี้ สามารถทวงหนี้ได้ไม่เกิน 1 ครั้ง/วัน
  2. หากลูกหนี้ได้ชำระหนี้ครบถ้วน ต้องออกหลักฐานการชำระหนี้
  3. ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือสนับสนุนการทวงหนี้ที่ไม่ใช่หนี้ของตน

 ทวงหนี้ไม่เป็นธรรมควรทำอย่างไร ?

        การทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมหรือการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิของลูกหนี้ สามารถร้องเรียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ
ที่ทำการปกครองจังหวัด กรมการปกครอง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กองบัญชาการตำรวจนครบาล

อ้างอิงจาก : พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558,ธนาคารแห่งประเทศไทย